เบื้องหลัง ของ เรือตอร์ปิโดยูโกสลาเวีย ที5

ใน พ.ศ. 2453 คณะกรรมการเทคนิคทหารเรือออสเตรีย-ฮังการีริเริ่มโครงการการออกแบบและพัฒนาเรือยิงตอร์ปิโดชายฝั่งระวางขับน้ำ 275 ตัน (271 ลองตัน) และกำหนดว่าควรคงความเร็วได้ 30 นอต (56 กม./ชม.) เป็นเวลา 10 ชั่วโมง ข้อกำหนดนี้ตั้งอยู่บนการคาดการณ์ว่ากำลังข้าศึกจะปิดล้อมช่องแคบโอตรันโต ซึ่งเป็นที่บรรจบของทะเลเอเดรียติกกับทะเลไอโอเนียน ระหว่างความขัดแย้งในอนาคต ในพฤติการณ์เช่นนั้น มีความจำเป็นต้องใช้เรือยิงตอร์ปิโดซึ่งสามารถแล่นจากฐานทัพเรือออสเตรีย-ฮังการี (เยอรมัน: kaiserliche und königliche Kriegsmarine) ที่อ่าวโคโทรไปช่องแคบดังกล่าวในยามกลางคืน หาตำแหน่งและโจมตีเรือที่ปิดล้อมแล้วกลับสู่ท่าเรือก่อนเช้า มีการเลือกเครื่องยนต์กังหันไอน้ำสำหรับการขับเคลื่อน เนื่องจากไม่มีน้ำมันดีเซลที่มีพลังงานที่จำเป็น และกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีไม่มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติในการใช้เรือกังหันไฟฟ้า บริษัทต่อเรือด้านเทคนิคของตรีเยสเต (อิตาลี: Stabilimento Tecnico Triestino, ชื่อย่อ: STT) ได้รับคัดเลือกให้ทำสัญญาต่อเรือแปดลำแรกในชื่อกลุ่ม ที มีการขอคำเสนอให้ต่อเรืออีกสี่ลำ แต่เมื่อบริษัทต่อเรือแกนซ์และดานูบิอุส (อิตาลี: Ganz Danubius) ซึ่งเป็นคู่แข่ง ลดราคาสิบเปอร์เซ็นต์ ทำให้มีการสั่งเรือรวมสิบหกลำจากบริษัทดังกล่าว ชื่อว่ากลุ่ม เอฟ[1] ซึ่งกลุ่มชื่อเอฟ หมายถึงตำแหน่งอู่ต่อเรือหลักของแกนซ์และดานูบิอุสที่ฟีอูเม[2]